วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Clip Video : Pamukkale & Hierapolis อุทธยานมรดกโลก


PAMUKKALE & HIERAPOLIS
ปราสาทปุยฝ้าย & เมืองโบราณเฮียราโฟลิส
เมืองมรดกโลก

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Pamukkale & Hierapolis
ปราสาทปุยฝ้าย & เมืองเฮียราโฟลิส
อุทยานมรดกโลก



  ปามุกคาเล(Pamukkale) หรือปราสาทปุยฝ้าย ในภาษาตุรกี ปามุก แปลว่า ฝ้าย, คาเล แปลว่า ปราสาท เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเมื่อหินปูนสีขาวสะอาดหรือแคลเซียมออกไซด์ถูกธารน้ำใต้ดินที่เป็นน้ำแร่ไหลเออล้นขึ้นมาบนผิวดิน และไหลรวมกันจนเป็นลานใหญ่ กว้างประมาณ 300 เมตร ยาวกว่า 3 กิโลเมตร ก่อนจะไหลตกลงจากหน้าผาสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 100 เมตร 

  การไหลของน้ำแร่ที่ปามุกคาเลนี้ได้ไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ ราวกับน้ำตกที่ทำด้วยวิปครีม อันเกิดจากการตกตะกอนของหินปูนที่ทำปฏิกิริยากับอากาศ และจับตัวแข็งกลายเป็นแอ่งน้ำตื้นๆ มีน้ำล้นใสราวกับตาตั๊กแตน ในวันที่อากาศดีจะสะท้อนกับท้องฟ้าสีครามสดใสงามตายิ่งนัก ใครเห็นก็อยากลงไปนอนแช่ เพราะน้ำที่ขังอยู่ก็คือน้ำแร่อุ่นๆ นั่นเอง แถมบางแอ่งน้ำยังอยู่ในมุมสูง มองเห็นพื้นราบเบื้องล่างที่อยู่ต่ำลงไปลิบ...สุขอย่างบอกใครเชียวครับ

  ซึ่งความสุขแบบที่รู้สึกกันอย่างนี้แหละที่เป็นตัวฆ่าปามุกคาเล เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เฮโลไปใช้ไปหาความสุขกันอย่างไม่ปรานีต่อธรรมชาตินั้น นานวันเข้าหินปูนสีขาวราวกับปุยฝ้ายก็กลายเป็นสีเหลืองอ่อนๆ ไปจนถึงสีสนิม น้ำแร่ใสๆ ที่เคยเอ่อล้นพลันก็เหือดแห้ง จะมีออกมาบ้างก็เฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ผลิเท่านั้นที่แอ่งน้ำมีน้ำมากขึ้น ถ้ามาในช่วงฤดูร้อนจะพบว่าแอ่งน้ำเดี๋ยวนี้น้ำแห้งเกือบถาวรแล้ว ซึ่งคนที่เคยไปเห็นปามุกคาเลเมื่อราว 20 ปีที่แล้วแล้วติดใจ 


   ปีนี้ไปอีกเพื่อรำลึกถึงความหลัง มักผิดหวังไปตามๆ กัน และต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่น่ามารำลึกความหลังกันเลย สู้ปล่อยให้ปามุกคาเล่เป็นอดีตอันสวยงามอยู่ในความทรงจำเสียยังดีกว่า เพราะภาพปามุกคาเลปัจจุบันผิดจากปามุกคาเลในอดีตอย่างเทียบกันไม่ได้ ความทรงจำดีๆ และงดงามถูกทำลายไปสิ้นแล้ว 


  อย่างไรก็ดี ในบริเวณพื้นที่ที่ติดกับน้ำตกหินปูนปามุกคาเล ยังมีโบราณสถานแห่งหนึ่งที่พอจะช่วยเยียวยาความผิดหวังของคนที่โหยหาอดีตอันเรืองรองและไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง

HIERAPOLIS


  เฮียราโปลิส(Hierapolis) เป็นโบราณสถานที่ว่าครับ สถานที่อันเต็มเปี่ยมไปด้วยอดีตแห่งนี้ก่อตั้งโดยกษัตริย์ยูเมเนสที่ 2 (Eumenes II) แห่งแพร์กามุม ชื่อนี้โด่งดังมากในสมัยโบราณประมาณศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล สืบเนื่องมาจากพบว่าบริเวณนี้มีน้ำแร่ศักดิ์สิทธิ์ไหลอยู่ทั้งปีด้วยอุณหภูมิราว 33-35 องศาเซลเซียส ซึ่งคนสมัยก่อนเชื่อกันว่ามีสรรพคุณในการรักษาโรคได้สารพัด โดยเฉพาะโรคไขข้ออักเสบ จึงถูกใช้เป็นสถานที่บำบัดโรค ผู้คนเมื่อได้ยินกิตติศัพท์ว่าเป็นแหล่งรักษาโรคก็เดินทางมาใช้ จนต่อมาได้พัฒนาชุมชนเล็กๆ ให้กลายเป็นเมืองย่อมๆ ขึ้นมา นักประวัติศาสตร์ได้ทำการขุดและพบหลักฐานว่าที่นี่มีเมืองชื่อ ไฮเดรลา (Hydrela)


  ซึ่งถ้าแปลตามตัวอักษรก็หมายถึงเมืองแห่งสายน้ำ และสันนิษฐานกันว่าเมืองไฮเดรลานั้นที่แท้ก็คือเมืองเฮียราโปลิสนั่นเอง ส่วนชื่อของเมืองเฮียราโปลิส นักประวัติศาสตร์มีความเชื่อแตกออกเป็น 2 กระแส ทางหนึ่งเชื่อว่ามาจากชื่อของสตรีผู้หนึ่งที่มีบทบาทสูงในยุคนั้น ส่วนอีกกระแสเชื่อว่ามาจากรากศัพท์ที่แปลว่า เมืองศักดิ์สิทธิ์อันแสนสุข คือ Hiera และ Holy



  เนื่องจากเมืองเฮียราโปลิสในอดีตมีชื่อเสียงเรื่องความงามของหินอ่อน และได้รับอิทธิพลจากทั้งกรีกและโรมันโบราณที่ผลัดกันเข้ามาครอบครอง ซึ่งได้ทิ้งหลักฐานทางโบราณคดีไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษามากมาย โดยเฉพาะวิหารและหลุมศพโบราณที่ทำด้วยหินล้วนๆ 

  ชาวโลกในอดีตใช้บริเวณนี้เป็นที่พักพิงติดต่อกันมานานเกือบ 1,500 ปีก็เสื่อมความนิยม เหตุเพราะได้เกิดแผ่นดินไหวหลายครั้งและการรุกรานของพวกเติร์ก จนหลังปี ค.ศ. 1334 ผู้คนอพยพหนีหายไปอยู่ที่อื่นกันหมด ไม่มีคนกล้าอาศัยอยู่ที่นี่อีก บ้านเรือนในยุคนั้นจึงเหลือเป็นเพียงซากปรักหักพังอยู่เกลื่อนทุ่งไปทั่ว ทั้งกำแพงเมือง โรงอาบน้ำโรมัน วิหารอะพอลโล โรงละคร และซากหลุมศพ รวมทั้งโบสถ์สมัยไบเซนไทน์ 


  การมาเที่ยวชมปามุกคาเลและเมืองโบราณเฮียราโปลิสจึงควรให้เวลานานสักหน่อย เพราะทั้งสองแห่งมีความสวยงามทางธรรมชาติและคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่หาชมได้ยากในภูมิภาคอื่นของโลก และคงด้วยความคิดเช่นนี้กระมังที่ทำให้กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวนมากไปในที่สุด อันเป็นผลให้มีนักลงทุนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ขอสัมปทานจากรัฐบาลตุรกี สร้างรีสอร์ตและสปาให้อยู่ใกล้กับปามุกคาเลและซากโบราณสถานมากที่สุด นัยว่าเพื่ออำนวยความสะดวกสบายแบบสุดๆ ให้กับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักทั้งหลาย 

  โรงแรมที่ว่านี้ชื่อ “โรงแรมปามุกคาเล” ไฮไลต์ของโรงแรมฯ คือการนำบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในอดีตมาดัดแปลงเป็นสระว่ายน้ำที่เป็นน้ำแร่ธรรมชาติกลางแจ้งขนาดใหญ่ ใต้น้ำใสปิ๊งยังคงทิ้งเสาโรมันของแท้ที่หักพังระเกะระกะไว้ให้ตื่นตาตื่นใจเล่น ยามจินตนาการว่ากำลังว่ายน้ำอยู่ในยุคก่อนคริสตกาล หรือย้อนหลังไปเป็นพันๆ ปี 


  นอกจากจะมีโรงแรมบนยอดปามุกคาเลแล้ว ยังมีการลงทุนสร้างรีสอร์ตและสปาผุดขึ้นอีกมากมายรอบๆ เชิงเขาบริเวณใกล้กับฐานของปามุกคาเล แต่ละรีสอร์ตและสปาต่างก็พยายามสูบสายน้ำแร่เข้าไปใช้ในรีสอร์ตโดยตรงเพื่อให้แขกที่เข้าพักประทับใจ แต่ผลที่ตามมาคือ ธารน้ำแร่ที่มีอยู่อย่างจำกัดได้เหือดแห้งไปในบางช่วงเวลา ประกอบกับไม่มีการจำกัดเขตให้นักท่องเที่ยวเดินชมแอ่งน้ำที่เป็นหินปูนสีขาวบริสุทธิ์ ทำให้เกิดความสกปรกที่มาพร้อมกับจำนวนคนมากมายจนเกินความสามารถของธรรมชาติที่จะรองรับได้ เนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องของการรักษาโรคแท้ๆ


  ทำให้นักท่องเที่ยวบางคนตั้งใจไปถอดรองเท้าเดินย่ำน้ำ บางคนถึงกับถอดเสื้อผ้าลงไปนอนแช่ในน้ำแร่อุ่นๆ อย่างสบายใจ เมื่อทำแบบนี้มากๆ เข้าก็ทำให้แอ่งน้ำหินปูนที่เคยเป็นสีฟ้าใสแจ๋วเหือดแห้งลง และมีคราบของความสกปรกเป็นตะไคร่จับตามพื้นและขอบบ่อ บางแห่งกลายจากสีขาวเป็นสีสนิม เพราะเกิดจากคราบไคลของไขมันในร่างกายของนักท่องเที่ยวนั่นเอง 

  เหตุการณ์อันน่าตระหนกนี้ทำให้รัฐบาลตุรกีและองค์กรยูเนสโกได้เข้ามาจัดระเบียบการทำธุรกิจท่องเที่ยวบริเวณนี้เสียใหม่ก่อนที่ความอัศจรรย์ทางธรรมชาติและโบราณสถานจะพังพินาศไป รัฐบาลตุรกีสั่งปิดถนนเส้นที่ตัดขึ้นไปส่งนักท่องเที่ยวจนเกือบจะชิดกับแอ่งน้ำเลยทีเดียว และห้ามรถบัสใหญ่จอดใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวด้วย
  

  ถ้านักท่องเที่ยวต้องการเข้าไปชมต้องใช้วิธีเดินเข้าไปอย่างเดียวด้วยระยะทางราว 1,500 เมตรบนเส้นทางที่กำหนด และสั่งย้ายโรงแรมปามุกคาเลออกไปจากพื้นที่ทันที ซึ่งกว่ารัฐบาลตุรกีจะจัดการย้ายโรงแรมเจ้าปัญหานี้ออกไปได้ก็ใช้เวลานานหลายปีทีเดียว เพราะติดในแง่ของกฎหมายการลงทุนของเอกชน และมาตรการสุดท้ายคือการกำหนดเขตให้นักท่องเที่ยวเดินลุยน้ำแร่อุ่นๆ เล่นในแอ่งหินปูนอย่างมีขอบเขตแน่นอน ไม่ปล่อยเสรีเหมือนเช่นในอดีตอีกต่อไป พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยสอดส่องกวดขันนักท่องเที่ยวที่ชอบฝ่าฝืน ซึ่งก็ยังมีให้เห็นเป็นพักๆ ทั้งๆ ที่มีประกาศขอความร่วมมือเอาไว้ชัดเจนแล้วก็ตาม 

  ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยให้ลมหายใจของปราสาทปุยฝ้ายได้มีชีวิตต่อ และค่อยๆ ฟื้นเอาความสวยงามดังเดิมกลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาร่วม 100 ปีทีเดียว

Credit :
http://en.wikipedia.org/wiki/Pamukkale
http://glifr.com/th/heritage/hierapolis-pamukkale/814
http://www.gourmetthai.com/newsite/travel/travel_detail.php?content_code=CONT649
http://www.youtube.com/watch?v=9uqFUc_K5wk by tinasor

MONDERN and POST-MODERN

Post-Modern



     หลังทศวรรษที่ 1960 เรื่อยมา เป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มก่อร่างกระแสความคิดแบบยุคหลังสมัยใหม่ (Post-modern) ที่ยังไม่ชัดเจนนัก หากแต่เป็นกระแสที่เน้นการวิพากษ์และตั้งคำถามต่อแนวคิดภาวะทันสมัยที่ยังคงเป็นกระแสหลักของการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่กระนั้นก็มีแนวคิดอื่นๆ เกิดขึ้นมาในช่วงนี้ อาทิ แนวคิดทฤษฎีระบบโลก World System Theory ที่ให้ความสนใจกับระบบและความสัมพันธ์ในการพึ่งพาอาศัยกันและกัน (Interdependency) ในช่วงยุคนี้จะมีการเกิดองค์กรระหว่างประเทศขึ้นมากมาย เกิด Good governance รวมไปถึงแนวคิดปรากฏการณ์นิยม ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงยุคได้รับอิทธิพลจากแนวคิดวิทยาศาสตร์ของไอสไตน์ในเรื่องสัมพันธภาพนิยม (Relativitism) 

     อิทธิพลของแนวคิดดังกล่าวข้างต้นได้มีส่วนในการก่อเกิดแนวคิดใหม่ๆ หรือที่เรียกกว่า กระแสแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ที่วิพากษ์ถึงกระบวนทัศน์ "การพัฒนา" ว่าได้ก้าวสู่จุดจบของ "สังคมสมัยใหม่" (modern sociality) หรือมองว่า "สังคมอุดมคติ" (utopia) ของกลุ่มสังคมนิยมเป็นเรื่องที่ไม่เป็นจริง แต่ถึงกระนั้นแนวคิดหลังยุคสมัยใหม่ก็ได้กล่าวถึงเรื่องของการพัฒนาว่า ผลของความเป็นสมัยใหม่จาก "การพัฒนา" ได้สร้างสถาบันทั้งหลายที่เกี่ยวกับระเบียบวินัยขึ้นมา ปฏิบัติการต่างๆ และวาทกรรมหลายหลากที่ทำให้วิธีการต่างๆ ของมันในการครอบงำและบังคับควบคุมเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่สำหรับนักหลังสมัยใหม่มันคืออำนาจและมายา แต่กระนั้นกระแสแนวคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมิใช่เพียงวิพากษ์สังคมยุคทันสมัยนิยมเท่านั้น หากแต่ยังสนใจต่อสังคมยุคที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา รวมถึงสังคมในปัจจุบัน ที่อาจเรียกรวมว่า "สังคมหลังยุคทันสมัย" หรือ "สังคมหลังยุคสมัยใหม่" 

     อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระแสความสนใจต่อการศึกษาแนวคิดหลังสมัยใหม่นั้นมีมาก และมักจะตีความหรือเข้าใจว่าแนวคิดดังกล่าวหลากหลายจนไร้จุดยืน งานเขียนชิ้นนี้จึงพยายามประมวลความคิดที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้ผู้สนใจได้มองหลังสมัยใหม่อย่างรอบด้านยิ่งขึ้น โดยงานเขียนนี้ได้เสนอว่า กระบวนทัศน์หลังสมัยใหม่นั้น มองสังคม คนอย่างไร? ใครคือผู้นำทางความคิด และหลักการหรือแนวคิดสำคัญๆ ที่มีอิทธิพลต่อวงการแนวคิดหลังสมัยใหม่ตัวอย่างใดบ้าง เพื่อเป็นแนวทางการทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ต่อๆ ไป

Modern และ Post-Modern

Post-Modern  คือแนวความคิดที่มาหลังจากยุค Modern ซึ่งเป็นช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่อะไรต่างๆถูกกำหนดอยู่ในหลักเกณฑ์และทฤษฏี แต่ยุค Post-Modern เป็นยุคที่ปฏิเสธสิ่งเดิมๆในยุคmodern โดยเน้นเสรีภาพและอิสระของบุคคล ไม่เชื่อในโลกของความจริง ไม่เชื่อเรื่องความเป็นสากล เพราะเชื่อว่าแต่ละคนแต่ละวัฒนธรรมนั้นมีเหตุผลของตัวเอง ไม่ควรจะให้ใครมาตัดสินว่าอันไหนสิ่งใดดีที่สุด แล้วคิดว่าสิ่งนั้นต้องดีสำหรับคนอื่นด้วย ดังนั้นจึงไม่คิดว่าสังคมที่คิดว่าเป็นสากลนั้นไม่มีจริง

Post-Modern เป็นยุคหลัง Modern จึงทำให้เกิดการถวิลหา คลาสิค เป็นยุคที่นำเอา ความแข็งกร้าว ตรงไปตรงมา สัจจะแห่งเนื้อแท้ มารวมกับ ความนุ่มนวล อ่อนช้อย ลวดลายมากมาย การปกปิดสัจจะแห่งเนื้อแท้มาก+น้อย = Post-Modern ง่ายๆ เอาตำรา The Seven Lamp for Architecture (เป็นตำราทางสถาปัตยกรรมเล่มแรกของโลก) รวมกับ Theory ของ บาวเฮ้าส์ มารวมกันก็ได้ Post-Modern

Post-Modern เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นในปลายยุคทศวรรษที่ 80 นำโดยกลุ่มนักออกแบบที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น Michael Graves, Philippe Starck เป็นต้น คำว่า Post-Modern มาจากคำว่า Post ซึ่ง แปลว่าหลังและ Modern ก็หมายถึงยุค Modernนั่นเอง ความหมายรวมของPost-Modern หมายถึง รูปแบบงานออกแบบในยุคหลังจาก Modern นั่นเอง

หลักการโดยทั่วไปของ Post-Modern คือการสร้างรูปแบบงานออกแบบใหม่ที่ไม่ใช่ทั้ง Modern และ รูปแบบ Classic แต่กลับเป็นการสร้างลูกผสมระหว่างทั้งสองรูปแบบขึ้นมาดังจะ เห็นได้จากผลงานส่วนใหญ่ของรูปแบบนี้จะมีการสร้างชิ้นงานแบบ Modern ที่เรียบง่าย และมีรูปทรงที่โดดเด่น เตะตา แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีการอ้างอิงถึงรายละเอียด หรือกลิ่นอายของงาน Classic ไปด้วยในตัว

ในบางครั้งงาน Post-Modern ก็จะไปเน้นที่การเล่นเรื่อง Space กล่าวคือ Space ของงาน Classic มักจะเน้นที่ ความหรูหรา ใหญ่โตและอลังการ ในขณะที่รูปแบบ Modern จะเน้นที่ความเรียบง่าย และการสร้างความรู้สึกที่สัมผัสได้ ในทันทีที่เข้าไปพบ หรือสัมผัสแต่รูปแบบ Post-Modern มักจะเน้นที่ การสร้างความรู้สึกคล้ายใช่ และ คล้ายไม่ใช่ โดยมักจะสร้าง Space ที่ให้ความรู้สึกที่เปลี่ยนไป ในแต่ละ ก้าวย่าง ที่เข้าไปสัมผัส

รูปแบบ Post-Modern ก็มักจะมีการใช้สีสรรที่สดใส หรือวัสดุที่แปลกใหม่ ตลอดจนรูปทรงที่แปลกตา เข้ามาใช้ในงานด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอาคาร สถาปัตยกรรม ทำให้เรามักจะได้เห็น อาคารรูปทรงแปลกประหลาด หรือมีสีสรร สดใสตัดกับอาคารสี่เหลี่ยมทึบตันรอบข้าง โผล่มาอย่าง น่าประทับใจ

ความแปลกใหม่และลูกเล่นที่สร้างสรรค์ต่างๆ เหล่านี้ ได้สร้างให้งาน Post-Modern ขึ้นสู่จุดสูงสุดอย่างรวดเร็วและด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ทันสมัย ยิ่งทำให้งานออกแบบนี้แพร่กระจายไปทั่วโลก Post-Modern กลายเป็นรูปแบบใหม่ ่ที่นักออกแบบทั่วโลกให้ความสนใจ และยินดีที่จะสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบนี้ ภายหลังจากที่ ต้องเก็บกดอยู่นานกับความเรียบง่าย วัสดุที่จำกัด และรูปทรงเรขาคณิต ของงาน Modern



-  www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=2444
-  http://www.ablaze-db.com/webboard/index.php?topic=52.0

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

ABU SIMBEL TEMPLE อลังกาลวิหารอาบูซิมเบล

Abu Simbel Temple


ประวัติ : Giovanni Battista Belzoni

Giovanni Battista Belzoni

จิโอวานนี่ แบตติสต้า เบลโซนี่
เกิดวันที่ 18 พ.ย. 2321
ที่เมืองปาดัว ประเทศอิตาลี
ผู้รู้ด้านโบราณวัตถุอียิปต์
ผู้ค้นพบทางเข้าวิหาร Abu Simbel
Abu Simbel




          วิหารอาบูซิมเบล ( Abu Simbel Temple ) เป็นผลงานของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ( Ramesess II ) ในราชวงศ์ที่ 19 มีอายุนับถึงปัจจุบันกว่า 3,299 ปี ( 1290-1224 B.C. ) ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบนาสเซอร์ทางตอนใต้สุดของประเทศ ติดชายแดนประเทศซูดาน
          ทางใต้ของประเทศชาวอียิปต์เรียกว่า Upper Egypt สาเหตุก็เพราะว่ามีพื้นที่ภูมิประเทศสูงกว่าทางด้านเหนือและเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำไนล์ สายน้ำมหัศจรรย์ที่มีต้นน้ำมาจากประเทศตอนกลางของทวีปแอฟริกามาบรรจบกันที่ประเทศซูดาน ก่อนไหลผ่านประเทศอียิปต์เป็นประเทศอกแตกตั้งแต่ทางด้านใต้ไปจรดเหนือสุดลงสู้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน บริเวณทิศเหนือหรือตอนบนเป็นที่ราบลุ่มมีพื้นที่ต่ำกว่า ชาวอียิปต์จึงเรียกบริเวณนี้ว่า Upper Egypt
 
          ทางเข้าสู่วิหารอาบูซิมเบลปูด้วยอิฐบล็อกเป็นระเบียบ เส้นทางเลียบทะเลสาบ และมีท่าเรือเทียบหน้าวิหารพอดี เป็นสถาปัตยกรรมของฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่หลังจากเว้นว่างจากศึกสงครามปกป้องประเทศแล้ว การสร้างเทวสถานเพื่อสักการะและบูชาเทพเจ้าให้มากที่สุด และสร้างสุสานให้กับตัวเองไปพร้อม ๆ กันด้วย และดูเหมือนว่าฟาโรห์รามเสสที่ 2 ( Ramesess II ) ทรงมีปรีชาสามารถทั้งการรบและสร้างเทวสถานทำนุบำรุงมากกว่าฟาโรห์องค์ใด ๆ พระองค์จึงทรงได้รับการขนานนามต่อท้ายว่า “มหาราช ”
 
          รามเสสที่ 2 มีเหตุผลในการสร้างเทวสถานขึ้นบริเวณนี้ เพราะพระองค์ต้องการแสดงอำนาจเหนือ อาณาจักรคูช ( Kush ) ของชาวนูเบียน ซึ่งมีอิทธิพลมากทางอียิปต์ตอนบน Upper Egypt และต้องการให้ผู้คนได้เห็นว่า พระองค์มีบารมีเพราะได้รับการปกป้องจากสุริยเทพที่ผู้คนกราบไหว้ วิหารแห่งนี้จึงสร้างถวายแด่เทพเจ้ารา-ฮอรัคตี้ ( Ra-Jprakhty ) ดังรูปแกะสลักเหนือทางเข้าวิหารแห่งรามเสส และอีกประการเพื่อแสดงความรักต่อองค์มเหสีผู้เป็นราชินี จึงได้สร้างวิหารอีกหลังแก่พระนางเนฟเฟอร์ตารี ( Nefertari ) เพื่อถวายสักการะแด่เทวีฮาเธอร์ ( Hathor ) พระมารดาแห่งจักรวาลอันเป็นสุริยเทวี
          แต่เทวสถานแห่งนี้ได้ถูกโยกย้ายมาประกอบขึ้นใหม่ และโดยเฉพาะภูเขาทั้งสองลูกที่สร้างครอบเทวสถานทั้งสองหลังนี้คือภูเขาเทียม แต่ความยิ่งใหญ่กลับสร้างความตื่นตา และกลับยิ่งทึ่งในความสามารถของมนุษย์ที่สามารถแก้ปัญหาอันยิ่งใหญ่ได้ในเวลาอันรวดเร็วแก่เทวสถานแห่งนี้
เดิมทีวิหารแห่งนี้จมอยู่ในโคลนตมและทรายนานหลายศตวรรษ ถูกค้นพบโดยบังเอิญโดยชาวสวิส ชื่อ Johann Ludwig Burckhardt

 

          Giovanni Battista Belzoni ชาวอิตาเลียนมาสำรวจจนพบทางเข้าในปีค.ศ. 1817 และได้มีการนำทรายในวิหารออกจนหมด ปีค.ศ. 1960 องค์การยูเนสโก ( Unesco ) ได้เข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงประเทศต่างๆ ด้วย เพื่อกู้เทวสถานและโบราณวัตถุบริเวณใกล้ทะเลสาบนาสเซอร์ที่มีถึง 10 แห่ง หนีน้ำจากการสร้างเขื่อนอัสวานแห่งใหม่ ( Hight Dam ) ถ้าไม่รีบย้ายหนีรับรองเราคงต้องได้ชมวิหารแห่งนี้ใต้น้ำอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงมีเสียงตอบรับช่วยเหลือด้านเงินมากจาก 51 ประเทศ และดำเนินการกู้เทวสถานอาบูซิมเบลโดยทีมงานจากนักโบราณคดีประเทศต่าง ๆ มีอียิปต์ อิตาลี สวีเดน เยอรมนี และฝรั่งเศส โดยเริ่มทันทีเมื่อปีค.ศ. 1964
          ตัววิหารอาบูซิมเบลและรูปสลักลอยตัวของฟาโรห์รามเสสที่ 2 อันใหญ่โตมหึมาถูกตัดออกเป็นชิ้น เหมือนกำแพงหนา ๆ โดยเฉพาะชิ้นส่วนบริเวณในหน้าของรูปสลักจะถูกเลื่อยมาทั้งใบหน้า โดยมีเดือยทางแผ่นหลังของใบหน้ายื่นออกเพื่อสอดเข้ากับชิ้นส่วนช่วงหัวอีกที
          ชิ้นส่วนต่าง ๆ มีมากกว่า 2,000 ชิ้น น้ำหนักของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นเฉลี่ยประมาณ 10-40 ตัน ทุกชิ้นถูกกำกับด้วยหมายเลขเพื่อการประกอบที่ถูกต้อง หลังจากนั้นจึงได้ขนย้ายชิ้นส่วนดังกล่าวมาก่อสร้างขึ้นใหม่บริเวณที่อยู่ในปัจจุบัน

The 'Young Memnon', Rameses II, at the British Museum.

 
แผ่นที่ อาบูซิมเบล
         
          การเริ่มสร้างประกอบขึ้นใหม่เริ่มจากการสร้างวิหารและวางรูปสลักรามเสสที่ 2 ให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วค่อยสร้างภูเขาเทียมครอบทับทีหลังในลักษณะเป็นโดม ( Dome ) ตัววิหารทั้งสองหลังหันหน้าออกไปทางทะเลสอบนาสเซอร์ อยู่ห่างจากพื้นที่เดิมประมาณ 210 เมตร และบริเวณนี้มีความสูงกว่าพื้นที่เดิมกว่า 65 เมตร ทุกอย่างทางทีมงานนักโบราณคดีพยายามให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด เพื่อความยิ่งใหญ่ของโบราณสถานแห่งนี้ และโครงการนี้ก็เสร็จสมบูรณ์เปิดให้เข้าชมอีกครั้งใน ค.ศ. 1968 รวมเวลาการกู้และบูรณะยาวนานถึง 4 ปี เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ประมาณ 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
 
          มหาวิหารแห่งฟาโรห์รามเสสที่ 2 เดิมก่อสร้างโดยเจาะภูเขาหินทรายลึกเข้าไป ด้านหน้ามีขนาดความกว้าง 35 เมตร เหมือนหน้าผา สูง 30 เมตรมีรูปสลักประทับนั่งของฟาโรห์รามเสสที่ 2 เองถึง 4 รูปเพื่อเฝ้าด้านหน้าวิหารแห่งนี้ มีความสูงถึง 20 เมตร รูปสลัก 2 องค์ จากซ้ายส่วนหัวแตกหักหล่นลงอยู่เบื้องล่าง และรูปสลักฟาโรห์ทั้ง 4 จะปรากฏรูปสลักเล็ก ๆ เป็นผู้หญิงยืนระหว่างขาของรูปคือ รูปสลักของพระมารดา มเหสี โอรสและธิดาของฟาโรห์ อันมีความหมายว่า พระองค์คือผู้ปกป้องนั่นเอง
          มีวิธีสังเกตดังนี้ เช่น รูปของฟาโรห์รามเสสที่ 2 จะมีชื่อของท่านแกะสลักร่องลึกอยู่ที่ต้นแขน ช่องที่แกะชื่อด้วยอักษรอียิปต์โบราณ (Hieroglyphic) นั้น เขาเรียกว่าคาร์ทูช (Cartouche) ตัวคาร์ทูชนี่แหละคือตัวบ่งบอกอธิบายหลักฐานต่าง ๆ ในอียิปต์ให้เราเข้าใจ
          ด้านบนสุดด้านหน้าวิหารจะถูกประดับด้วยรูปสลักลิงนั่งเรียงเป็นแถวยาวตามความยาวของหน้าวิหารนับได้ 22 ตัว ตัวเลข 22 ดังกล่าวนี้ หมายถึง ช่วงเวลาของแต่ละวันมันจะหมุนไปตลอดเวลา เปรียบเหมือนอากัปกริยาของลิง อันหมายถึงใน 1 วันมีแค่ 24 ชั่วโมง ฟาโรห์รามเสสคงสร้างไว้เป็นคติสอนใจพวกที่ไม่รู้คุณค่าของเวลา 
 
          แต่หนังสือบางเล่มเขียนว่ามีลิง 23 ตัวด้วย ลิงบาบูนจะเป็นสัญลักษณ์ของการสักการบูชาและการทำความเคารพดวงอาทิตย์ เนื่องจากแสงอาทิตย์แรกจะส่องไปยังลิงพวกนี้ก่อน แล้วค่อยเลื่อนลงมาจับรูปปั้นทั้ง 4 ของ Ramses II ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับการแสดงความเคารพต่อดวงอาทิตย์นอกเหนือจากการบ่งบอกช่วงเวลา
          เหนือประตูทางเข้าวิหารคือ รูปสลักเทพเจ้ารา –ฮอรัคตี้ ประทับยืนโผล่ออกมาจากช่องเหนือประตูหน้าวิหาร ด้านข้างคือภาพแกะสลักร่องลึกรูปของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ทั้งสองด้านกำลังบูชา โดยในมือยื่นถวายเทวีมาอัต ( Maat ) แด่เทพเจ้ารา – ฮอรัคตี้
          ห้องโถงแรกภายในวิหารเรียกว่า ( Great Pillared Hall) จุดเด่นอยู่ที่เสาทั้ง 8 ต้นถูกประดับด้วยรูปสลักของรามเสสที่ 2 เองโดยทรงเครื่องแบบเทพโอซิริส ช่วยยืนค้ำภายในวิหาร เป็นสไตล์คล้ายศิลปะกรีก ที่นิยมนำรูปปั้นคนมาตกแต่งหัวเสา แต่เป็นภายนอกอาคาร
 
          ผนังภายในวิหารถูกแกะสลักร่องลึกลงสีรูปเรื่องราวต่าง ๆ พร้อมคาร์ทูชอธิบายเหตุการณ์มากมาย ภาพส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับภารกิจด้านสงครามของรามเสสที่ 2 เป็นภาพที่สำคัญยิ่งที่พระองค์ได้รับชัยชนะราวปาฏิหาริย์ เพราะพระองค์ได้รับพรและความช่วยเหลือจากเทพเจ้าอะมอนรา คือครั้งการสู้รบกับพวกฮิตไทต์ (Hittites) ที่เมืองคาเดช ( Kadesh ) ในปี 1300 B.C.
          ตามประวัติศาสตร์อ้างว่ารามเสสที่ 2 สามารถสนองความประสงค์ของผู้เป็นพ่อคือฟาโรห์ เซติที่ 1 ( Seti I ) ที่ทรงต้องการปราบพวกฮิตไทต์เป็นหนักหนา แต่ชัยชนะที่รามเสสที่ 2 ได้รับก็ไม่ใช่ชัยชนะที่ยั่งยืนหรือถาวรเพราะกองทัพฮิตไทต์ฉลาดในการรบยิ่ง รามเสสที่ 2 จึงใช้วิธีทำสัญญาสงบศึกจนมีความสัมพันธ์แนบแน่นเมื่อพระองค์ได้เจ้าหญิงแห่งฮิตไทต์มาเป็นพระสนมถึง 2 องค์ เลยเพิ่มสถิติจำนวนมเหสีและนางสนมทั้งสิ้น รวม 60 พระองค์แก่รามเสสที่ 2 ส่วนโอรสและธิดานั้นนับร้อย แถมพระองค์ยังอายุยืนอีกต่างหากถึง 92 พรรษา
          ในที่สุดก็มาถึงห้องที่สำคัญที่สุดซะที ห้องสำคัญที่ว่าคือ ห้องขนาดเล็กอยู่ลึกสุดภายในวิหารก่อนผ่านพิลลาร์ฮออล์ ( Pillared Hall) ขนาดเล็กไป ห้องนี้ลึกถึง 47 เมตร จากปากทางเข้า ตรงกลางห้องมีแท่นบูชาสำหรับวางเรือศักดิ์สิทธิ์ของเทพอะมอนรา (Sacred Braque)
 
          ติดผนังด้านหลังสุดของห้องเล็ก ๆ นี้มีรูปสลักลอยตัว 4 รูปประทับนั่งอยู่ มองเข้าไปนับจากด้านขวามือของเราเองคือเทพ รา-ฮอรัคตี้ (มีแผ่นสุริยวงกลมบนศีรษะ) ถัดมาคือ ฟาโรห์รามเสสที่ 2 รูปที่ 3 คือเทพอะมอนราและเทพพทาห์องค์ซ้ายสุด มือสองข้างกุมคฑา ภาพฝาผนังด้านข้างเป็นภาพการบูชาเทพอะมอนราพร้อมรูปเรือโซลาร์โบ๊ต ที่เทพเจ้าใช้เป็นพาหนะเดินทางท่องจักรวาล
          เทพเจ้าทั้ง 3 รูปล้วนมีความสำคัญยิ่งในดินแดนไอยคุปต์ ฟาโรห์รามเสสที่ 2 จึงอัญเชิญมาประทับรวม ณ วิหารแห่งนี้ เทพรา-ฮอรัคตี้เป็นสุริยเทพแห่งเมืองเฮลิโอโปลิสที่เคยเป็นเมืองหลวง เทพพทาห์เป็นเทพประจำเมืองเมมฟิสอดีตเมืองหลวงเช่นกัน และเทพอะมอนรา เทพประจำเมืองหลวงธีบส์ในสมัยรามเสสที่ 2 เอง
          ภายในห้องนี้ยังมีปรากฏการณ์สำคัญอีกอย่างด้วย แต่เป็นที่น่าแปลกใจตรงที่เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นก่อนที่จะย้ายวิหารมายังที่ปัจจุบันเสียอีก แต่เมื่อย้ายมาอยู่ที่นี้ก็ยังเกิดปรากฏการเช่นเดิมอีก เพียงแต่วันที่จะปรากฏการณ์เปลี่ยนไปเท่านั้นคือ ทุก ๆ ปีในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ และ 22 ตุลาคม เพียง 2 ครั้งใน 1 ปี จะมีลำแสงของดวงอาทิตย์ตั้งแต่เช้าตรู่จากทางตะวันออก พุ่งกระทบแผ่นน้ำในทะเลสาบ มาทะลุผ่านวิหารลอดเข้าสู่ภายในห้องบูชาแห่งนี้
 
          เรื่องวันที่เกิดปรากฏการณ์แบ่งเป็น 2 ชุดใหญ่ๆ คือ วันที่แสงส่องก่อนย้ายวิหาร กับวันที่แสงส่องหลังย้ายวิหารไปแล้ว โดยรวมสรุปได้ประมาณนี้
          ก่อนย้ายแสงจะส่องเข้าวันที่  21 มีนาคม และ 21 กันยายน หลังย้ายแสงจะส่องเข้าวิหารมี 3 ข้อมูล คือ 20 กุมภาพันธ์ และ 20 ตุลาคม,  21 กุมภาพันธ์ และ 21 ตุลาคม, 22 กุมภาพันธ์ และ 22 ตุลาคม วันที่ยืนยันว่าเกิดปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างยืนยันว่าเป็นวันที่ 22 มากกว่าวันอื่นๆ

         
           ลำแสงจะไปจับอยู่ที่เทพรา-ฮอรัคตี้ ก่อนแล้วค่อยเคลื่อนไปที่รูปของฟาโรห์รามเสสที่ 2 สักพักก็เลื่อนไปฉายที่รูปเทพอะมอนรา ก่อนฉายกลับมาทางเดิมโดยที่ไม่ฉายไปที่เทพพทาห์เลย เหตุผลคือ เทพพทาห์ เป็นเทพที่สถิตอยู่ในความมืดมิดนั่นเอง นับว่าเป็นสิ่งที่น่าเหลือเชื่อจริง ๆ นั้นคือเหตุผลที่ทำให้เรายอมรับการคำนวณของคนในสมัยโบราณ
          เพิ่มเติมเรื่องเทพพทาห์ (Ptah) คือเทพประจำนคร Memphis ดูแลงานช่าง งานฝีมือ อาจจะเกี่ยวกับโลกใต้บาดาล และคนตายบ้าง แต่ว่าไม่มีเหตุผลที่เทพพทาห์จะต้องอยู่ในความมืด จึงเกิดข้อสงสัยว่าทำไมเทพพทาห์ถึงต้อง “ไม่โดนแสง" เพราะยังไม่มีหลักฐานจากตำนานไหนที่บอกว่า "เทพพทาห์คือเทพที่สถิตอยู่ในความมืดมิด" เหตุผล “การไม่โดนแสง” จึงน่าจะเป็นการอธิบายจากคนรุ่นใหม่มากกว่าเป็นความตั้งใจของคนยุคโบราณที่จะสร้างวิหารออกมาเช่นนั้น
          เทพ Amun ที่แปลว่า "ซ่อนเร้น" ยังเหมาะและดูสมเหตุสมผลกว่า ในการ “ไม่ให้แสงส่องมาถึง” เนื่องจากพระองค์เป็น "ผู้ซ่อนเร้น" ดังนั้นจึงไม่มีแสงสว่างส่องมาถึงพระองค์
          เพราะหากคิดในแง่การคำนวณแสงจริงๆ เมื่อมีการย้ายวิหารมาที่ใหม่ก็ไม่น่าจะเกิดปรากฏเฉพาะตามที่คนโบราณตั้งใจไว้ แต่น่าจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญโดยมีเงื่อนไขว่าวิหารต้องหันไปทางทิศตะวันออกเท่านั้น (เสนอประเด็นไปท้าต่อยกับการท่องเที่ยวอียิปต์แล้ว ไม่มีปรากฏการณ์เรียกความสนใจ มันจะเรียกเงินจากนักท่องเที่ยวได้ไง เขาก็ต้องคิดเรื่องมาอธิบายสิ)
 
          แต่เดิมภายใน Abu Simbel เคยทาสีไว้ทั้งหมด ภาพที่ David Roberts วาดมาก็มีสีเหมือนกันเป็นไปได้ว่าเดิมรูปปั้นทั้ง 4 นี้ก็มีสีเป็นปกติ แต่ว่าสีเริ่มหลุดร่อนมาเรื่อยๆ เพราะสภาพอากาศและความชื้นจากนักท่องเที่ยวรวมทั้งตอนขนย้ายวิหาร ทำให้สภาพในตอนนี้สีได้หลุดลอกไปจนหมด
          สถานที่สุดท้ายที่จะกล่าวถึง เป็นวิหารแห่งฟาโรห์รามเสสมหาราชคือ วิหารแห่งพระนางเนฟเฟอร์ตารี หรืออาจเคยได้ยินชื่อเรียกที่ว่า ( Temple of Hathor, Temple of Love, Nefertari Temple) สร้างถวายแด่เทวีฮาเธอร์
          ด้านหน้าวิหารมีรูปสลักลอยตัวสูงประมาณ 10 เมตร เป็นรูปของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ขนาบสลับกันกับรูปพระนางเนฟเฟอร์ตารีซึ่งสวมมงกุฎราชินีทั้ง 2 รูป ส่วนรูปสุดท้ายขวามือเราก็เป็นรูปของรามเสสที่ 2 เอง ทรงสวมหมวดแบบฟาโรห์พร้อมมงกุฎหางนกมีแผ่นโซลาร์ดิสก์ มีความหมายถึงพระองค์เทียบเท่าสุริยเทพ และรูปสลักของรามเสสอีก 3 รูป ทรงสวมหมวกทรงปาปิรัสและดอกบัวตูม มีความหมายถึงการขึ้นครองสองอาณาจักรทั้งอียิปต์ล่างและอียิปต์บน
 
          ส่วนรูปปั้นองค์เล็กในแต่ละช่วงของระหว่างขาของฟาโรห์รามเสสที่ 2 และพระนางเนฟเฟอร์ตารี คือ โอรสและธิดาในพระองค์ บ่งบอกความหมายว่า พระองค์ทั้งสองคือผู้ปกครอง
          ภายในวิหารด้านหลังกำแพงทางเข้าเป็นภาพการต่อสู้ที่สำคัญยิ่ง ณ ที่แห่งนี้ของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ที่มีชัยชนะเหนือชาวนูเบียน และที่สำคัญคือ ภาพเทพอะมอนราคอยช่วยเหลือโดยยื่นอาวุธให้กับรามเสสเพื่อสังหารชาวนูเบียนอีกด้วย
 
          เสา 6 ต้น ( Pillars ) ภายในห้องโถงประดับหัวเสาด้วยศิลปะแบบฮาเธอร์ ( Hathor Pillars ) คือใช้รูปใบหน้าของเทวีฮาเธอร์ใบหูวัวประดับหัวเสา เทวีฮาเธอร์ได้ชื่อว่าเป็นพระมารดาแห่งจักรวาล เป็นสัญลักษณ์แห่งความงามและความรัก และยังถือว่าเป็นสุริยเทวีที่สุริยเทพ รา ทรงเนรมิตขึ้นมาอันมีวัวเป็นสัญลักษณ์ ดังนั้นรูปลักษณ์ของเทวีจึงอยู่ในร่างมนุษย์ มีเขาวัวคู่พร้อมแผ่นสุริยวงกลมบนหัว ภาพบนฝาผนังของวิหารแห่งนี้ถูกประดับด้วยภาพสีบนร่องลึกที่แกะสลักไว้ ที่สำคัญ คือ ภาพที่พระนางเนฟเฟอร์ตารี่ทรงได้รับการประทานพรให้ได้สวมมงกุฎราชินีจากเทวีฮาเธอร์และเทวีไอซิสและคำร่ำลืออันยิ่งใหญ่ถึงราชินีองค์นี้ก็คือ พระนางทรงเป็นที่รักยิ่งของเทวีมัต ( Mut ) ผู้เป็นมเหสีของสุริยเทพผู้ยิ่งใหญ่ คือเทพอะมอนรานั่นเอง
Howard Carter ขุดค้นพบแหล่งโบราณวัตถุของอียิปต์อีกมากมาย